วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คำ ความหมาย และคำมูล


                   คำ ในภาษาไทยมีมากมายหลายชื่อ หลายชนิด  เริ่มตั้งแต่  คำมูล  คำประสม  คำซ้อน  คำซ้ำ  คำนาม  คำสรรพนาม  คำควบกล้ำ  ฯลฯ  เล่นเอาคนเรียนคนสอนสับสนมึนงง    แต่หากคิดไตร่ตรองดี ๆ  การที่เรารู้  เข้าใจหลักการของคำเหล่านี้  เวลาสอบน่าจะได้เปรียบคนที่ไม่ยอมรู้   ไม่ยอมเข้าใจ  เพราะเรื่องของ “ คำ “ ไม่ยากอย่างที่คิดเลย

ก่อนอื่นควรเข้าใจก่อนว่า  “ คำ “  คืออะไร    


                         เราเริ่มต้นกันด้วยความหมายของ " คำ " ก่อนดีกว่า
                              คำ  คือเสียงที่เปล่งออกมา  อย่างมีความหมาย   ถ้าไม่มีความหมายจะเรียกว่า “ พยางค์ “    บางทีเราต้องเปล่งเสียงต่อเนื่องกันหลายครั้งจึงมีความหมาย  นั่นแสดงว่าคำ ๆ หนึ่ง  อาจมีหลายพยางค์ก็ได้     เช่น  ออกเสียงว่า  แมว   เดิน   จับ  วิ่ง  ฯลฯ  เสียงเหล่านี้จัดเป็นคำ เพราะมีความหมายทุกเสียง        และถ้าออกเสียงว่า    มะลิ    โดยให้ความหมายว่า  ดอกไม้สีขาว  มีกลิ่นหอม  เราจะต้องออกเสียงสองครั้งถึงจะมีความหมายตามที่ต้องการ  ดังนั้นจึงกล่าวว่าคำ ๆ หนึ่ง  อาจมีหลายพยางค์ก็ได้  
             “คำ “  หรือจะเรียก  ถ้อยคำ เมื่อ เปล่งเสียงพูด  เรียกว่า “คำพูด”    เมื่อ เขียนเป็นตัวหนังสือ   จะ เรียก  คำเขียน
              เมื่อจำกัดความว่า   คำ  คือเสียงที่มีความหมาย   ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า  ความหมายของคำจะมี  สอง  ประการ   ประการแรก   ความหมายตรงซึ่งเป็นความหมายเดิมของคำ       ความหมายนี้จะปรากฏในพจนานุกรม เช่น  กล้วย  เป็นคำนาม  หมายถึง  ชื่อไม้ล้มลุกจำพวกหนึ่งมีหลายพันธุ์,  ชื่อปลาทะเล  ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง , ชื่อหมึกชนิดหนึ่ง
                        ประการที่สอง  ความหมายโดยนัย    ความหมายชนิดนี้เป็นความหมายแฝง  เป็นความหมายที่เกิดจากการนำความคิดให้เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งอื่นที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน  ตัวอย่าง    ลิง  หมายถึง  ความซน  เพราะธรรมชาติของลิงจะอยู่ไม่นิ่ง     สำลี  หมายถึง  ความเบา , สีขาว    หมู  หมายถึง  ง่าย    เสือ  หมายถึง  คนเก่ง  ดุร้าย   ความหมายของคำจะรู้ได้เมื่อเรียงอยู่ในประโยค 

ลองดูตัวอย่างข้อสอบเกี่ยวกับคำและความหมาย 
ประโยคในข้อใดใช้คำไม่ถูกต้องตรงตามความหมาย
                ๑.เด็กคนนี้ฉลาดเกินงามจริงๆ ถามอะไรตอบได้หมด
                ๒.นารีชอบพูดจาเกินเลยคนอื่นเสมอจนถูกครูตำหนิ
                ๓.คนเราทำอะไรอย่าให้เกินหน้าคนอื่นเขา มันไม่ดี
                ๔.ปรีดาใช้เงินเกินตัวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้หนี้เขา
การตอบโจทย์ข้อนี้  ต้องดูคำและความหมายของคำ   คำไหนที่ต้องดู   ตัวเลือกในข้อ ๑,๒,๓,๔  มีคำที่ต้องรู้ความหมายคือ  เกินงาม  ,  เกินเลย,  เกินหน้า  และ เกินจริง  เพราะต่างขึ้นต้นด้วย  “ เกิน “  เกินงามหมายถึงมากจนหมดงาม ,  เกินเลย  หมายถึง  แสดงกิริยาวาจาต่อผู้อื่นจนขาดสัมมาคารวะ ,  เกินหน้า  หมายถึง  เกินกว่า  เด่นกว่า   , เกินตัว  หมายถึงเกินฐานะ   เมื่อรู้ความหมายแล้วจึงดูข้อความทั้งหมด       ในข้อ ๑  เราใช้เกินงาม   จะไม่เข้ากับความหมายของคำว่า  ฉลาด  ที่คำนี้ขยายอยู่       ฉลาดควรใช้คำขยายว่า  เกินคน  ซึ่งหมายถึง  ฉลาดเกินคนธรรมดา   จะถูกต้องมากกว่า  โจทย์ข้อนี้จึงต้องตอบข้อ ๑
ข้อใดใช้คำถูกต้องตรงความหมาย
                ๑.สุดาชอบไปสอดแทรกในเรื่องส่วนตัวของคนอื่น
                ๒.สุภาพกำลังตกแต่งลูกสาวให้เป็นฝั่งเป็นฝา
                ๓.สุกัลยากำลังสืบสวนหาแหล่งผลิตยาเสพติด
                ๔.สุพัตรานำข้าวสารชนิดดีไปผสมกับชิ้นเลวเพื่อปลอมแปลงข้าวสาร
โจทย์ข้อนี้ต้องพิจารณา คำว่า  สอดแทรก ,  ตกแต่ง ,  สืบสวน ,  ปลอมแปลง
“สอดแทรก”  หมายถึง  หมายถึง  เข้าไปยุ่งในเรื่องที่มิใช่หน้าที่ของตน
“ตกแต่ง”  หมายถึง  ประดับ  หรือทำให้งาม
“ สืบสวน”  หมายถึง  สอบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการอย่างอื่นเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา
“ปลอมแปลง”  หมายถึง  ทำเลียนแบบให้ดูเหมือนจริง
เมื่อรู้ความหมายของคำทุกคำ  เราจะพบว่า คำว่า  “สอดแทรก”  เข้ากับความทั้งประโยคมากที่สุด  ในข้อสอง การตกแต่งไม่ควรใช้กับ  เป็นฝั่งเป็นฝา  เพราะ  คำนี้หมายถึงการให้ลูกสาวออกเรือน มีครอบครัวไป  ข้อความนี้ควรใช้  “ตบแต่ง”  หมายถึง จัดให้ลูกสาวมีเรือนตามประเพณี  มากกว่า 
 ข้อสาม   สืบสวนจะใช้กรณีพบแหล่งผลิตแล้ว  ในกรณีนี้ยังหาอะไรไม่พบควรใช้สืบเสาะ  หรือสืบหาจึงเหมาะสมถูกต้องกว่า
 ข้อใดมีคำซ้ำที่แสดงความหมายต่างจากข้ออื่น
                ๑.แม่นวดแป้งแล้วปั้นเป็นลูกกลมๆ              
             ๒.แยกๆกันไปกินอาหารจะได้ออกรถเร็วขึ้น
                ๓.สมชายอยากย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ ๆ ที่ทำงาน             
             ๔.อายุเกินหกสิบปีแล้วยังชอบใส่เสื้อผ้าสีสดๆอีก
ข้อนี้ต้องเลือกคำซ้ำในแต่ละข้อมาพิจารณา   ลูกกลม ๆ  แสดงความคงที่  แยก ๆ แสดงการกระจัดกระจายไม่รวมกลุ่ม   ใกล้ ๆ แสดงความคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง   สีสด ๆ ก็แสดงความคงที่  ดังนั้น คำตอบจึงเป็นข้อ ๒  เพราะความหมายของคำแสดงความไม่คงที่


                     ชื่อคำแรกที่นำเสนอ  คือ  " คำมูล "
“ คำมูล “
คำมูล  คือ  คำที่มีใช้อยู่ในภาษาแต่ดั้งเดิม   คำที่มีใช้ในภาษาไทย  มีทั้งที่เป็นคำไทยแท้  และคำที่ยืมมาจากภาษาอื่นๆ ที่เราติดต่อเกี่ยวข้องด้วย  เช่น  ติดต่อกับอินเดีย  ก็มีภาษาบาลี  สันสกฤต   ติดต่อกับเขมรก็มี  คำเขมร   ฯลฯ  คำทั้งของเราเองและคำยืม   เราเรียกว่า  “คำมูล”    คำมูลมีทั้งที่เป็นพยางค์เดียว  เช่น  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  และคำหลายพยางค์  เช่น   มะระ    ผักบุ้ง  แตงกวา  ขึ้นฉ่าย  กะทะ  กะเพรา     ฯลฯ 
ข้อสังเกต คำมูลหลายพยางค์ ถ้าแยกพยางค์ออกจากกันแต่ละพยางค์จะไม่มีความหมาย  ถ้ามีก็ไม่ใกล้เคียงกับคำที่รวมพยางค์กันอยู่  เช่น   กระถาง  เมื่อแยกเป็น  กระ จะไม่มีความหมาย   ถาง  ก็ไม่มีความหมาย  รวมสองพยางค์จึงจะมีความหมาย
ปัญหาที่ตามมาสำหรับบางคนก็คือ  คำไทยแท้    คำไทยไม่แท้  ที่หยิบยืมมาเป็นอย่างไรล่ะ  
                คำไทยแท้ที่มีใช้ในภาษาแต่เดิมที่เป็นคำไทยแท้ มักเป็นคำพยางค์เดียวโดดๆ   คือ   ออกเสียงครั้งเดียวก็มีความหมายเลย เช่น  พ่อ     แม่    พี่  ดิน  น้ำ  ลม   ไฟ    ถ้ามีหลายพยางค์  อาจเกิดจาก  การกร่อนเสียง   คือเวลาออกเสียงคำสองคำเรียงกันเร็วๆ  คำแรกเสียงจะสั้นลง  เช่น  หมากม่วง  เป็น  มะม่วง  ตาวัน  เป็นตะวัน  เป็นต้น    บางครั้งอาจมีการแทรกเสียงตรงกลางคำพยางค์เดียวสองคำที่เรียงกัน  เช่น  ลูกดุม  เป็น  ลูกกะดุม  นกจอก  เป็น  นกกระจอก    นอกจากนี้มีการเติมพยางค์หน้าหน้าคำพยางค์เดียว  เช่น  โจน  เพิ่มพยางค์   กระ  ข้างหน้า  เป็น  กระโจน   ทำเป็น  กระทำ     เดี๋ยว เป็น  ประเดี๋ยว  เป็นต้น
               คำถามสำหรับเรื่องนี้มักจะถามว่า  คำในข้อใดมีการกร่อนเสียง  หรือ    คำใดมีการแทรกเสียง  เป็นต้น       นอกจากเป็นพยางค์เดียวแล้ว  คำไทยแท้มักมีตัวสะกดตรงตามมาตรา  ถ้าเป็นแม่กบ  ก็ต้องใช้   บ   ตัวเดียว  ถ้าใช้พยัญชนะตัวอื่น  แม้จะอยู่ในแม่กบ  เช่น   ลาภ    ภาพ  ก็ไม่ใช่คำไทยแท้          คำที่เป็นพยางค์เดียวโดยใช้ตัวการันต์กำกับ เช่น  แพทย์   ฟิล์ม  ก็ไม่ใช่คำไทยแท้
เพิ่มเติมให้อีกเรื่องคือคำไทยแท้ที่ใช้สระใอ  ไม้ม้วน  มี  ๒๐  คำจำให้ดี
                ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ         ใฝ่ใจเอาใส่ห่อมิหลงใหลใครขอดู  
                จะใคร่ลงเรือใบดูน้ำใสและปลาปู               สิ่งใดอยู่ในตู้มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง 
                เล่าท่องอย่าละเลี่ยง  ยี่สิบคำจำจงดี   


             ดังกล่าวมาแล้วว่า  คำมูลมาจากคำไทยแท้หรือคำที่ไทยยืมมาจากภาษาอื่น ๆ ก็ได้  ตอนต่อไปจะกล่าวถึง
เรื่อง  คำยืม   เพราะขึ้นต้นว่า   “คำ “   เหมือนกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น